สาสน์วันสื่อมวลชนสากล ครั้งที่ 50


สมณกระทรวงสื่อสารสังคม สันตะสำนัก
วันสื่อมวลชนสากล ครั้งที่ 50
“การสื่อสารและเมตตาธรรม การพบปะที่บังเกิดผล”
สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

พระสังฆราชกิตติคุณยอร์ช ยอด พิมพิสาร, C.Ss.R. ถอดความ

พี่น้องชายหญิงที่รัก

ปีศักดิ์สิทธิ์แห่งเมตตาธรรมเชื้อเชิญเราทุกคนให้พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสื่อสารและเมตตาธรรม พระศาสนจักรร่วมกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงรับสภาพมนุษย์ของพระบิดาแห่งพระเมตตาได้รับการเรียกร้องให้ปฏิบัติเมตตาธรรมเป็นรูปแบบพิเศษของทุกสิ่งที่พระศาสนจักรเป็นและกระทำ สิ่งที่เราพูดและการกระทำของเราควรสะท้อนพระเมตตาของพระเจ้า ความอ่อนโยนและให้อภัยสำหรับทุกคน โดยธรรมชาติของความรักคือการสื่อสาร ซึ่งนำไปสู่ความเปิดเผยและการแบ่งปัน หากหัวใจและการกระทำของเราได้รับการดลใจจากความรักของพระเจ้า เมื่อนั้นการสื่อสารของเราก็จะได้รับพลังของพระเจ้า
            ในฐานะบุตรธิดาของพระเจ้า เราได้รับเรียกให้สื่อสารกับทุกคนโดยไม่เว้นใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาจาและคำพูดของพระศาสนจักรเน้นไปยังความเมตตา สัมผัสจิตใจของทุกคนและสนับสนุนพวกเขาในการเดินทางไปสู่ความสมบูรณ์แห่งชีวิตซึ่งพระบิดาเจ้าทรงส่งมายังทุกคนโดยผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งหมายความว่าพวกเราต้องพร้อมที่จะน้อมรับความอบอุ่นของพระศาสนจักรมารดาของเรา และแบ่งปันความอบอุ่นนี้กับบุคคลอื่นเพื่อพระเยซูเจ้าจะได้ทรงเป็นที่รู้จักและรัก ความอบอุ่นนี้คือสิ่งที่ทำให้คำพูดของความเชื่อจากการเทศน์สอนและการเป็นประจักษ์พยาน ซึ่งจะจุดประกายบันดาลให้มีชีวิต
            การสื่อสารคือพลังที่สร้างสะพาน ช่วยให้การพบปะเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งจะบันดาลให้สังคมมีประสิทธิภาพ นับว่าเป็นสิ่งที่งดงามเพียงใด เมื่อผู้คนเลือกเฟ้นคำพูดและการกระทำอย่างละเอียดอ่อน ในความพยายามที่จะมิให้มีความเข้าใจผิดที่จะสร้างความทรงจำในทางลบ และพยายามที่จะเสริมสร้างสันติและความปรองดอง คำพูดสามารถสร้างสะพานระหว่างบุคคลและภายในครอบครัว ในกลุ่มชนและบุคคลทั่วไป นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในโลกวัตถุและในสื่อระดับโลก วาจาและการกระทำของเราควรจะช่วยให้เราพ้นจากวัฏจักรของการกล่าวโทษและการแก้แค้น ซึ่งหลอกลวงบุคคลและประเทศชาติ ทั้งให้มีการแสดงความเกลียดชัง คำพูดของคริสตชน ควรเป็นการให้กำลังใจไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดเวลา แม้ในกรณีที่ต้องเอาผิดกับความชั่ว ไม่ควรมีความพยายามที่จะตัดทอนความสัมพันธ์และการสื่อสารต่อกัน
            เนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงปรารถนาจะเชื้อเชิญผู้มีน้ำใจดีทุกคนให้ได้สัมผัสกับพลังของพระเมตตา เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ได้รับบาดเจ็บ และให้สันติภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันกลับคืนมาในครอบครัวและในชุมชน เราแต่ละคนทราบดีถึงหนทางต่างๆ ซึ่งแสดงความเกลียดชังที่ยังมีอยู่ สามารถทำให้ผู้ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ตกเป็นเหยื่อและต่อต้านการติดต่อสื่อสารและการคืนดีกันในทุกกรณี ความเมตตาสามารถก่อให้เกิดศัพท์ใหม่และการเจรจากัน เชคสเปียร์กล่าวไว้ว่า"คุณสมบัติของความเมตตาไม่ได้ถูกยับยั้ง มันหลั่งลงมาดั่งสายฝนจากสวรรค์ลงมายังเบื้องล่าง นับเป็นพระพรสองเท่าให้แก่ผู้ที่ใช้" (The Merchant of Venice, Act IV, Scene I)
            หากภาษาของนักการเมืองและนักการทูต มิได้รับแรงบันดาลใจจากความเมตตาก็จะไม่มีวันหมดหวัง ข้าพเจ้าขอร้องบรรดาผู้รับผิดชอบสถาบันและการเมือง และบรรดาผู้มีหน้าที่ดูแลความคิดเห็นของสังคมให้พยายามระมัดระวังการพูดเกี่ยวกับผู้ที่คิดและกระทำแตกต่างออกไป หรืออาจเป็นผู้ที่ทำผิด มันเป็นเรื่องง่ายที่จะปล่อยตัวให้ใช้สถานภาพที่จะฉวยโอกาสก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ความหวาดกลัวหรือความเกลียดชัง แต่ต้องการความกล้าหาญที่จะนำคนมาเข้ากระบวนการคืนดีกัน การใช้โอกาสนี้แสดงความกล้าหาญเนื่องจากความกล้าหาญที่จะทำเท่านั้นที่จะช่วยลบล้างความแตกแยกในอดีต และเป็นโอกาสที่จะสร้างสันติภาพให้ถาวร “ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรพระเจ้า” (มัทธิว 5:7-9)
            ข้าพเจ้าหวังว่าวิธีติดต่อและการให้บริการในฐานะผู้นำของพระศาสนจักร ไม่เป็นการแสดงออกด้วยความหยิ่งจองหองว่า เราเก่งกว่าฝ่ายตรงข้าม หรือไม่ให้เกียรติและไม่ช่วยเหลือเขา ความเมตตาสามารถช่วยแก้ปัญหาของชีวิตและให้ความอบอุ่นแก่ผู้ที่รู้จัก โดยเฉพาะความเยือกเย็นของคนที่ถูกตัดสิน ขอให้การสื่อสารช่วยให้มีชัยชนะต่อผู้ที่มีความคิดจะแยกแยะคนบาปออกจากคนดี เราสามารถตัดสินสถานการณ์ของบาป เช่น ความรุนแรง การฉ้อโกงและการหาผลประโยชน์ส่วนตัว แต่เราต้องไม่ตัดสินคนอื่น เหตุว่าพระเจ้าเท่านั้นทรงสามารถมองเข้าไปในส่วนที่อยู่ลึกลงไปในใจของพวกเขา มันมิใช่หน้าที่ของเราที่จะสอนผู้ที่ทำผิด และประณามความเลวทรามและอยุติธรรมของการกระทำบางอย่าง เพื่อเห็นแก่การปลดผู้ตกเป็นเหยื่อให้เป็นอิสระ และช่วยให้ผู้ที่ผิดได้ลุกขึ้น พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นบอกเราว่า“ความจริงจะทำให้ท่านเป็นอิสระ” (ยอห์น 8:32) ความจริงในที่สุดแล้ว พระคริสตเจ้าพระองค์เอง ผู้ทรงมีความเมตตาอ่อนโยนจะเป็นบรรทัดฐานในวิธีที่จะประกาศความจริงและประณามความอยุติธรรม หน้าที่หลักของเราคือการยึดมั่นในความจริงด้วยความรัก (ดู เอเฟซัส 4:15) เพียงวาจาที่กล่าวด้วยความรักเท่านั้น และทำไปด้วยความถ่อมตนและเมตตาที่สามารถสัมผัสหัวใจของเรา คำพูดที่รุนแรงความเชื่อมั่นในศีลธรรมและการกระทำที่มีความเสี่ยงยิ่งทำให้ผู้ที่เราต้องการที่จะช่วยยิ่งห่างออกไป ผู้ที่เราช่วยให้กลับใจและได้รับอิสระ ความรู้สึกของการปฏิเสธและปกป้องตนเอง
            บางคนคิดว่าวิสัยทัศน์ของสังคมที่มีรากฐานอยู่บนความเมตตาเป็นความฝันที่ไร้ความหวัง หรือไม่ก็สูงส่งเหลือเชื่อ แต่ให้เราหวนคิดถึงประสบการณ์ครั้งแรกภายในครอบครัวของเรา บิดามารดาของเรารักเราและให้คุณค่าของเราในตัวเรามากกว่าความสามารถหรือความสำเร็จของเรา แน่นอนที่สุด ท่านต้องให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกๆ ของท่าน แต่ความรักดังกล่าวมิได้ขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือความหมายของความสามารถของลูกๆ บิดามารดาปรารถนาสิ่งที่ดีที่สุดและความสำเร็จมากที่สุดของลูก แต่ความรักนั้นต้องมีเงื่อนไข บ้านของครอบครัวเป็นสถานที่หนึ่ง ซึ่งเราจะได้รับการต้อนรับเสมอ (ดู ลูกา 15:11-32) ข้าพเจ้าใคร่จะสนับสนุนทุกคนให้มองดูสังคมมิใช่เป็นเวทีที่คนแปลกหน้าแย่งชิงกัน และพยายามเป็นผู้ชนะ แต่ให้มองดูว่าเป็นบ้านหรือครอบครัว ที่ประตูเปิดอยู่เสมอ และเป็นที่ซึ่งทุกคนได้รับการตอบรับ
            เพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ เราต้องรับฟังเสียก่อน สื่อสารหมายถึงการแบ่งปันและการแบ่งปันเราต้องรับฟังก่อน การรับฟังต้องเป็นอะไรมิใช่เป็นแต่เพียงการรับฟัง หรือการได้ยินเท่านั้น การรับฟังคือการรับข้อมูล ในขณะที่การรับฟังเกี่ยวกับการสื่อสารเรียกร้องให้ใกล้ชิดกัน การได้ยินช่วยให้เราสามารถที่จะรับข้อมูลที่ถูกต้อง มิใช่เป็นแต่เพียงผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้ใช้และผู้บริโภคเท่านั้น การฟังมีความหมายว่า เราสามารถแบ่งปันคำถามและข้อสงสัย การร่วมเดินทางควรจะควบคู่ไปกับการขจัดการอ้างอิงถึงอำนาจสูงสุดและพยายามใช้ความสามารถและพรสวรรค์ของเราเพื่อรับใช้สังคม        
การฟังมิใช่เรื่องง่าย หลายครั้งการแกล้งทำเป็นคนหูหนวกยังง่ายกว่า การฟังซึ่งแปลว่าตั้งใจฟัง พยายามเข้าใจ แสดงความเคารพและพิจารณาสิ่งที่ผู้นั้นพูด มันหมายถึงการเป็นมรณสักขีแบบหนึ่งหรือเป็นคนเสียสละตัวเอง ในขณะที่เราเลียนแบบโมเสสที่กำลังเผชิญกับไฟไหม้พุ่มไม้ เราต้องถอดรองเท้าเมื่อเรายืนอยู่บน “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” เราสนทนากับพระองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ (ดู อพยพ 3:5) การรู้จักรับฟังนับว่าเป็นพระพรอันยิ่งใหญ่ นับเป็นของขวัญพิเศษที่เราต้องวอนขอ
            การใช้อีเมล์ ข้อความตัวอักษร เครือข่ายทางสังคมและการสนทนาสามารถเป็นรูปแบบของการสื่อสารเยี่ยงมนุษย์ มันมิใช่เป็นเทคโนโลยี มิได้เป็นเครื่องตัดสินว่า การสื่อสารถูกต้องหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจของมนุษย์และความสามารถของเราที่จะใช้เทคโนโลยีที่เรามีอยู่อย่างถูกต้อง เครือข่ายทางสังคมสามารถอำนวยความสัมพันธ์และสนับสนุนคุณความดีของสังคม แต่มันก็สามารถทำให้เป็นแม่เหล็กที่กดดันให้มีความแตกแยกระหว่างบุคคลและกลุ่มชน โลกดิจิตอลเหมือนกับเป็นที่สาธารณะที่ใช้พบปะสังสรรค์กัน เป็นที่ที่เราให้กำลังใจหรือความหมิ่นซึ่งกันและกัน เริ่มสนทนากันอย่างมีความหมายหรือโจมตีอย่างไร้ความยุติธรรม ข้าพเจ้าภาวนาขอให้ปีศักดิ์สิทธิ์นี้ พวกเขาจะอยู่ด้วยกันในความเมตตา “ขอให้เปิดใจเราสนทนากันอย่างจริงจัง เพื่อว่าเราจะได้รู้จักและเข้าใจกันและกันอย่างดียิ่งขึ้น และเป็นการขจัดจิตใจที่ปิดและขาดความนับถือผู้อื่น อีกทั้งขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบ และความมีอคติ” (Misericordiae Vultus, 23) อินเทอร์เน็ตสามารถช่วยเราให้เป็นพลเมืองที่ดีขึ้น การที่เราสามารถใช้หน่วยงานดิจิตอล เราก็มีการรับผิดชอบแทนเพื่อนบ้านของเรา ที่เราไม่เห็นแต่ก็เป็นคนจริงๆ และมีสิทธิที่เราต้องเคารพ เราสามารถใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเฉลียวฉลาด เพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาวะที่ดีและเปิดใจแบ่งปันกับผู้อื่น
            การสื่อสารไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและอย่างไร เป็นการเปิดโอกาสให้เรารับผิดชอบ ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวถึงพลังของการสื่อสารว่า “การเปิดใจ” การพบปะกันระหว่างการสื่อสารและความเมตตาซึ่งจะมีผลก็ต่อเมื่อก่อให้เกิดความใกล้ชิด ซึ่งดูแลให้กำลังใจ บำบัด ร่วมเดินทาง และเฉลิมฉลองในโลกที่แบ่งแยก และเป็นโลกที่ตรงกันข้าม ในอันที่จะสื่อสารด้วยความเมตตา ซึ่งหมายความว่า ต้องช่วยเสริมสร้างความเป็นพี่เป็นน้องที่มั่นคงและอิสระ เป็นการสนิทสนมกันระหว่างบุตรธิดาของพระเจ้า และพี่น้องชายหญิงทั้งหมดในครอบครัวมนุษยชาติเดียวกัน

ให้ที่สำนักวาติกัน วันที่ 24 มกราคม ค.ศ. 2016
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

ไม่มีความคิดเห็น