ลักษณะที่สำคัญของสื่อ



ลักษณะที่สำคัญของสื่อ คือ
1.         สื่อทั้งหมดถูกประกอบสร้างขึ้น
หลักการนี้เป็นหลักการสำคัญของการเรียนรู้สื่อ เราต้องเข้าใจว่าสื่อไม่ใช่กระจกเงาสะท้อนเรื่องราวของโลกอย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งทุกสื่อล้วนถูกมนุษย์สร้างขึ้นมาโดยมีการผสมผสาน ทัศนคติ และค่านิยมของผู้สร้างลงไปด้วย ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
2.         สื่อสร้างภาพความจริง
สิ่งที่เราคิด และรู้สึกเกี่ยวกับโลกส่วนมากมักมาจากที่เราเรียนรู้ผ่านสื่อ เนื้อความในสื่อโดยปกติจะเป็นส่วนผสมของข้อมูล ค่านิยม และโลกทัศนะ ที่ถูกจัดลำดับ กำหนดความสำคัญก่อนหลัง และเน้นย้ำโดยสื่อ ดังนั้นสื่อจึงมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อการกล่อมเกลาความรู้สึกเกี่ยวกับความจริง และค่านิยมทางสังคมของเรา การเรียนรู้สื่อจึงเป็นตัวกระตุ้นให้เราอยากจะตั้งคำถามกับความจริงที่สื่อต้องการนำเสนอ
3.         สื่อมักจะสร้างความหมายและเนื้อหาในเชิงการค้า (สื่อคือธุรกิจ)
สื่อมวลชนเกือบทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกำไร ผู้ชมจะถูกกำหนดให้เป็น กลุ่มเป้าหมาย” เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสินค้าหรือบริการ  บางครั้งผู้ชมเองก็ตกอยู่ในฐานะสินค้าที่ถูกขายให้ผู้โฆษณาเงื่อนไขทางธุรกิจจะเป็นตัวกำหนดว่าเนื้อเรื่องใดที่ควรนำมาสร้าง มีเทคนิคการนำเสนอ และช่องทางการเผยแพร่ควรเป็นอย่างไร ดังนั้นการเรียนรู้สื่อจึงทำให้เราคิดพิจารณาถึงประเด็นเรื่องกระบวนการผลิตและองค์กรที่เป็นเจ้าของสื่อด้วย
4.         สื่อทุกชนิดบรรจุสารเชิงอุดมการณ์ และชี้นำค่านิยม
สื่อทุกชนิดนำเสนอให้เห็นถึงค่านิยมและวิธีชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ สื่อจะชี้นำโดยอาจแสดงออกอย่างชัดเจน หรือไม่ก็แสดงโดยนัยว่าธรรมชาติของโลกและสังคม ที่เราควรยอมรับเป็นอย่างไร
5.         สื่อแสดงนัยทางสังคมและการเมือง
สื่ออิทธิพลอย่างใหญ่หลวงทางการเมืองและในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โทรทัศน์ สามารถส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้นำของประเทศโดยการนำเสนอภาพลักษณะต่าง ๆ สื่อให้ความรู้สึกว่าประเด็นใดเป็นประเด็นที่สำคัญของชาติ และประเด็นร่วมของโลกจนกระทั่งผู้ชมเห็นดีเห็นงามตามกันจนกลายเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นเหมือนกันในที่สุด
6.         สื่อแต่ละสื่อมีรูปแบบ แบบแผน และสุนทรียภาพเป็นของตัวเอง
สื่อแต่ละสื่อมีวิธีการเฉพาะตัวในการสร้างความเป็นจริง สื่อต่างชนิดกัน อาจรายงานเหตุการณ์ในเรื่องเดียวกันได้ แต่จะสร้างความประทับใจและสารที่แตกต่างกัน เช่น นวนิยายสร้างสรรค์ความเป็นจริงด้วยอักษร ภาพยนตร์มีเสียงและภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น
7.         การเรียนรู้สื่อสามารถนำมาสู่การคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้นและเพิ่มพูน ความสามารถในการสื่อสาร
การศึกษาสื่อหรือการเรียนรู้สื่อนั้น มิได้มุ่งหวังแค่ให้สามารถวิเคราะห์ วิจารณ์สื่อได้เท่านั้น แต่ยังมุ่งให้นำข้อวิเคราห์นั้นมาใช้เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง และยังมุ่งหวังให้สามารถตระหนักถึงสิทธิของเราในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์

ไม่มีความคิดเห็น